นายกฯ เห็นชอบเดินหน้าพูดคุยสันติภาพแล้ว ‘รอมฎอน ก้าวไกล’ ชวนติดตาม กอ.รมน.จะถูกลดบทบาทหรือไม่

นายกฯ เห็นชอบเดินหน้าพูดคุยสันติภาพแล้ว 'รอมฎอน ก้าวไกล' ชวนติดตาม กอ.รมน.จะถูกลดบทบาทหรือไม่

รอมฎอน ปันจอร์ เผยสัญญาณความคืบหน้า นายกฯ เห็นชอบเดินหน้าพูดคุยสันติภาพแล้ว สมช.เป็นแม่งานหลัก แต่ยังมีปัญหาในแนวหน้า พร้อมชวนติดตาม กอ.รมน.จะถูกลดบทบาทลงหรือไม่ ถ้าไม่ให้บทบาทกองทัพและ กอ.รมน.ในงานสันติภาพเลยก็เสี่ยงจะสปอยล์ แต่ถ้าให้มากไปก็อาจเละ 

20 พ.ย.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รอมฎอน ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก Romadon Panjor ว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ วันนี้ (20 พ.ย. 66) ได้รับแจ้งจากสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรีว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีความเห็นชอบเกี่ยวกับแนวทางการพูดคุยสันติภาพสันติภาพแล้ว

 “เราได้รับแจ้งข้อมูลใหม่เกี่ยวกับ #การพูดคุยสันติภาพ ว่า #นายกรัฐมนตรี ได้มีความเห็นชอบเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาเกี่ยวกับแนวทางการพูดคุยที่จะมี #การสานต่อ จากสิ่งที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการมา หลังจากที่ทาง สมช.(สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งขาติ) ได้บรีฟสรุปไปก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนตุลาฯ“

“เท่ากับว่าความเห็นพ้องระหว่างทีมรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นที่บันทึกเอาไว้ในเอกสาร General Principle on Peace Dialogue Process (ลงนาม 31 มีนาคม 2565) ได้รับการยืนยันและรับรองจากรัฐบาลใหม่แล้ว” รอมฎอน ระบุ

รอมฎอน ยังโพสต์ด้วยว่า ส่วนคณะพูดคุยและโครงสร้างหรือกลไกการพูดคุยจะมีความชัดเจนภายใน 2 สัปดาห์นี้ หรือน่าจะหลังจากการเยือนมาเลเซียในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

สมช.เป็นแม่งานหลัก แต่ยังมีปัญหาในแนวหน้า

รอมฎอน ให้ข้อมูลด้วยว่า กลไกการพูดคุยใหม่ในฝั่งรัฐบาลไทยจะรองรับด้วย คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับใหม่ เพื่อทดแทนคำสั่งฯ เดิมที่ยกเลิกไปพร้อมกับรัฐบาลก่อน โครงสร้างใหม่ที่ว่านี้จะยึดโยงกับกลไกภายใน สมช. เองที่ชื่อ คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คยศ.จชต.) ที่มีเลขาธิการ สมช. เป็นประธาน

“ถ้าฟังไม่ผิด จะมี สภา มช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) ที่มีนายกฯ เป็นประธานและมีรัฐมนตรี 7-8 กระทรวงเป็นกรรมการ ทำหน้าที่ในลักษณะกลไกกำกับทิศทางการพูดคุย (steering committee)”

รอมฎอน ระบุว่า ทั้งหมดนี้ แม่งานหลักของงานพูดคุยสันติภาพจะยังคงอยู่ที่ สมช. (สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ) หนึ่งในเรื่องที่น่าจะยังไม่ลงตัวก็คือ หน่วยแนวหน้า ที่จะต้องทำหน้างานกับภาคประชาสังคมและประชาชน ที่ผู้แทนจาก สมช.ระบุในวงประชุมว่าน่าจะต้องเป็นหน่วยงานทางสังคมและการพัฒนา

“หากเป็นเช่นนั้น ชะตากรรมของงานประสานงานในพื้นที่อาจเปลี่ยนโฉมไป ในยุครัฐบาลหลังรัฐประหารและรัฐบาลประยุทธ์ งานนี้เดิมทีอยู่ในมือของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า) ซึ่งเข้ามามีส่วนใน งานการเมือง นี้อย่างสำคัญ หลายคนรู้จักกันในชื่อ “สล.3” นั่นเอง”

รอมฎอน ตั้งข้อสังเกตว่า บทบาทของกองทัพและ กอ.รมน.ในงานสันติภาพนั้นน่าสนใจ เพราะหากพวกเขาไม่มีส่วนเลย ก็มีความเสี่ยงที่จะ #สปอยล์ (คำให้เสีย) กระบวนการที่หลายฝ่ายกำลังทำกันอยู่ แต่หากให้บทบาทมากเกินไปก็อาจสร้างปัญหาความเชื่อมั่น เพราะการใช้กรอบคิดแบบทหารทำงานการเมืองที่ต้องละเมียดละไมอาจส่งผลด้านกลับ

“น่าติดตามว่าตกลงแล้ว กอ.รมน. กำลังจะถูกลดบทบาทลงหรือไม่? แล้วพวกเขาจะอยู่ตรงไหนใน #กระบวนการสันติภาพ ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลใหม่”

 

 

แหล่งที่มา

About The Author

Scroll to Top