กรมราชทัณฑ์ แจง “วัชระ” ยันไม่ได้เลือกปฏิบัติปมขอพระราชทานอภัยโทษ “ทักษิณ”

กรมราชทัณฑ์ แจง “วัชระ” ยันไม่ได้เลือกปฏิบัติปมขอพระราชทานอภัยโทษ “ทักษิณ”

กรมราชทัณฑ์ ชี้แจง “วัชระ เพชรทอง” ยืนยัน การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษแก่ “ทักษิณ” ได้พิจารณาตามขั้นตอน ไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายใดรายหนึ่งแต่อย่างใด

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่ตนเอง มีหนังสือสอบถามหลักเกณฑ์การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษแก่ นช.ทักษิณ ชินวัตร และข้อมูลสถิตินักโทษเด็ดขาดของกรมราชทัณฑ์ ในช่วงเวลาก่อนหน้านี้นั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ได้มีหนังสือชี้แจงต่อตนเอง ในกรณีดังกล่าว ว่า

1. การขอพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคล (เฉพาะราย) เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 179 ซึ่งบัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจ ในการขอพระราชทานอภัยโทษ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตั้งแต่มาตรา 259 ถึงมาตรา 261 บัญญัติให้ ผู้ต้องคําพิพากษาให้รับโทษอย่างใดๆ หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ขอรับพระราชทานอภัยโทษ จะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ได้ หากผู้ถวายเรื่องราวซึ่งต้องจําคุกอยู่ในเรือนจํา จะยื่นเรื่องราวต่อพัศดีหรือผู้บัญชาการ เรือนจําก็ได้ เมื่อได้รับเรื่องราวนั้นแล้วให้พัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจําออกใบรับให้แก่ผู้ยื่นเรื่องราว แล้วให้รีบส่งเรื่องราวนั้นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีหน้าที่ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์พร้อมทั้งถวายความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่

2. กรณีของผู้ต้องโทษรายที่ท่านสอบถาม เป็นผู้ต้องคําพิพากษาให้รับโทษจําคุก ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว จึงสามารถทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ขอรับพระราชทานอภัยโทษ โดยยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงยุติธรรม ผ่านทางผู้บัญชาการเรือนจําได้ โดยกรมราชทัณฑ์ ได้รับเรื่องราวทูลเกล้าฯ ดังกล่าว และได้ ประมวลข้อเท็จจริงพร้อมจัดทําหนังสือเสนอพิจารณาตามลําดับต่อไปแล้ว ก่อนได้รับหนังสือสอบถามจากท่าน 

3. สถิตินักโทษเด็ดขาดของกรมราชทัณฑ์ เป็นข้อมูลที่เผยแพร่ให้ประชาชนสามารถเข้าชมได้ ทางเว็บไซต์ www.correct.go.th และการยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษเป็นสิทธิ ของนักโทษเด็ดขาดหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งหากได้มีการยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯ โดยมีเอกสารประกอบการพิจารณาที่ถูกต้องครบถ้วน กรมราชทัณฑ์ไม่มีอํานาจชะลอ ระงับ หรือยับยั้ง

การดําเนินการเสนอเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษดังกล่าว โดยจะต้องพิจารณา ดําเนินการให้ตามขั้นตอน และไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายใดรายหนึ่งแต่อย่างใด

จึงเรียนมาเพื่อทราบ

ขอแสดงความนับถือ

(นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์) 

รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมราชทัณฑ์

แหล่งที่มา

About The Author

Scroll to Top