เสวนา ดิจิทัลวอลเล็ต ย้ำ ไม่ใช่นโยบายกระตุ้น เศรษฐกิจ ที่มีเสถียรภาพระยะยาว

เสวนา ดิจิทัลวอลเล็ต ย้ำ ไม่ใช่นโยบายกระตุ้น เศรษฐกิจ ที่มีเสถียรภาพระยะยาว

ที่ปรึกษานายกฯ ร่วมเสวนา เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ก่อนนำข้อเสนอยื่นรัฐบาลต่อไป ย้ำ ยังไม่ใช่นโยบายกระตุ้น เศรษฐกิจ ที่มีเสถียรภาพระยะยาว

วันที่ 30 ต.ค.ที่รัฐสภา เวลา 10.00 น. คณะกรรมาธิการ เศรษฐกิจ การเงิน การคลัง วุฒิสภา ร่วมกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนวุฒิสภา และคณะกรรมการวิชาการของวุฒิสภา  จัดเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ ”นานาทัศนะกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้ความท้าทายและพลวัตที่เปลี่ยนแปลงไปของประเทศ“

โดยมีวิทยากร ทั้ง  นายพิชัย ชุณหวชิร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี  ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัย บล. มาร์ริลลินช์ภัทร จำกัด  ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเดีย เวิร์ค คอมมิวนิเคชั่น สถาบันไอเอ็มซี (IMC Institute)

การเสวนาครั้งนี้ เพื่อเป็นการระดมความเห็นรับฟังข้อมูล  แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อรวบรวมและจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อรัฐบาลต่อไป  เนื่องจากเล็งเห็นว่า การดำเนินงานนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลเป็นเรื่องที่สำคัญและควรตระหนักถึงผลดีและผลเสีย และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการดังกล่าว

นายพิชัย กล่าวในช่วงต้นว่า ตนได้รับคำถามจากทุกช่องทางตลอดระยะเวลา 2 เดือน จนคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างกันและสรุปผลที่ดีที่สุดให้กับประเทศชาติ โดยตนขอเริ่มจากการตั้งคำถามตนเองว่า ทำไมรัฐบาลถึงต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมเล่าย้อนหลังไปช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่า มีคำถามว่า อัตราการบริโภคเริ่มฟื้นตัวแล้ว ทำไมจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งข้อมูลที่เผยแพร่โดยธนาคารแห่งประเทศไทย จะเห็นอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ GDP เฉลี่ยหัวละ 1.9% ในช่วง 10 ปีย้อนหลังของไทย  ซึ่งตนถือว่าน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน ด้วยเหตุผลที่ทราบโดยทั่วกัน ว่า เกิดจากสาเหตุหลักคือยอดการส่งออกที่ลดลง  การท่องเที่ยวที่ลดลง แต่แน่นอนว่า ถ้าจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เราต้องใช้เงินกู้ให้น้อยที่สุด เพื่อให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงที่สุด

“ดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ใช่คำตอบของการทำให้เศรษฐกิจ มีเสถียรภาพระยะยาว แต่ตัวกระตุ้นที่ทำให้เศรษฐกิจดีที่สุด ต้องเป็นคอของประเทศ คือ ภาคการผลิตและภาคเอกชน“

ส่วนระยะถัดไป คือจุดแข็งของประเทศคือภาคการเกษตร ที่มีหลายอย่างจะต้องปรับปรุง ไม่ว่าจะเรื่องผลผลิตต่อกิโลกรัม  ต่อตัน และการใช้พื้นดิน สิ่งเหล่านี้จะต้องทำและต้องการตลาดออกต่างประเทศ

ช่วงหนึ่งมีผู้เข้าร่วมเสวนา ได้สอบถามไปยัง นายพิชัย ว่า การที่รัฐบาลออกมาตรการ เพราะมองว่า เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่พอออกมาแล้วเกิดเป็นปัญหาหลายอย่าง จึงอยากถามที่ปรึกษานายกฯ ว่าหากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงนโยบาย คิดว่าจะมีวิธีการชี้แจงต่อประชาชนอย่างไร เพราะก็เป็นนโยบายที่แถลงมาตั้งแต่ตอนหาเสียงและนายกรัฐมนตรีก็พูดย้ำมาตลอด

นายพิชัย บอกว่า นโยบายนี้ที่คิดกันมา เพราะเห็นความจำเป็นว่า จะต้องทำและยิ่งได้มาเห็นเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น  ไม่ว่าจะเรื่อง GDP เหตุการณ์ในต่างประเทศ  อัตราดอกเบี้ย ก็ยิ่งเห็นความจำเป็นอย่างยิ่งว่า จะต้องทำ

แหล่งที่มา

About The Author

Scroll to Top